Friday 29 March 2013

วันนี้ (29 มี.ค.) ที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พร้อมด้วย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. และ พล.ต.ท.สฤษฏ์ชัย อเนกเวียง ผบช.ส. ได้เดินทางเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการเจรจากับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา
ภายหลัง พล.ท.ภราดร ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รายงานบทสรุปในการเจรจาให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ พร้อมรับทราบนโยบายจากท่าน ซึ่งยังยืนยันว่ารัฐบาลมีนโยบายในการดำเนินการอย่างสันติวิธี พูดคุยอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้ เพราะประชาชนคาดหวังไว้ สำหรับการพบกันในครั้งหน้าวันที่ 29 เม.ย.นั้น นายกรัฐมนตรีก็ขอให้ดำเนินการอย่างเต็มขีดความสามารถ เพื่อให้มีพัฒนาการก้าวหน้าในเชิงบวกให้มากที่สุด

พล.ภราดร กล่าวว่า การพบกันครั้งนี้นอกเหนือจากกลุ่มบีอาร์เอ็น ก็มีกลุ่มพลูโลเข้ามาพูดคุยเพิ่มเติมด้วย ซึ่งมี 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1. รับทราบกรอบการดำเนินงานร่วมกันระหว่างคณะพูดคุย ที่จะมีไม่เกินคณะละ 15 คน โดยมีฝ่ายมาเลเซียเป็นฝ่ายเลขาหรือผู้อำนวยความสะดวกให้ และทั้ง 2 กลุ่มสามารถไปตั้งคณะทำงานย่อยได้ตามความคล่องตัว เพื่อให้ประสานการปฏิบัติได้ดี 2.ได้หยิบยกเรื่องการลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฝ่ายขบวนการได้ขอให้อำนวยความยุติธรรมให้กับกลุ่มขบวนการที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่และเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมาย จึงจำเป็นกลับมาหารือกันก่อน ส่วนฝ่ายไทยได้เสนอให้ลดความรุนแรงในทุกพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเขาก็ขอเวลาในการตกผลึกและสื่อสารกับกองกำลัง รวมทั้งหาวิธีการว่าจะทำอย่างไร จากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายก็จะมาให้คำตอบในสิ่งที่ต่างได้ยื่นประเด็นให้กันและกันในการพูดคุย ครั้งหน้าวันที่  29 เม.ย.นี้ โดยแต่ละฝ่ายจะไปไม่เกินฝ่ายละ 9 คน ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ก็จะทยอยเข้ามาพูดคุยด้วย แต่บีอาร์เอ็นจะเป็นกลุ่มหลัก และรับผิดชอบประสานการพูดคุยกับกลุ่มอื่นด้วย ซึ่งยืนยันว่าบุคคลที่ไปพูดคุยด้วยเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็นตัวจริง ยังเป็นกลุ่มที่มีพลังอยู่ และมีฝ่ายกลไกที่ประสานกับผู้ปฏิบัติได้

เมื่อถามว่าหากพื้นที่ก่อความไม่สงบยังไม่ลดลงหลังการพูดคุย จะมีมาตรการอย่างไรต่อ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เมื่อส่งสัญญาณไปแล้วก็น่าจะมีโอกาสลดลง แต่ถ้ายังไม่ลดลงก็ต้องมาพูดคุยถึงสาเหตุต่าง ๆ เพราะที่พูดคุยกันวันนี้ เขาก็บอกว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้มาจากขบวนการของเขา แต่อาจมาจากส่วนอื่น ซึ่งจุดนี้ก็ต้องมาพิสูจน์ทราบซึ่งกันและกัน จะได้แก้ไขปัญหาได้ต่อไป แต่เขาก็ยอมรับว่าเหตุความรุนแรงส่วนหนึ่งก็มาจากการกระทำของเขา เมื่อถามว่าให้เวลาเท่าไหร่ที่จะเห็นภาพชัดเจนว่าเขาสามารถควบคุมกลุ่ม ปฏิบัติการในพื้นที่ได้ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เราก็ต้องการจะได้รับเวลาที่ชัดเจนจากเขา แต่เขาขอเวลาระยะหนึ่ง จึงต้องกลับมาพูดคุยในวันที่ 29 เม.ย. แต่ระหว่างวันนี้ไปจนถึงวันที่ 29 เม.ย.ก็อาจจะมีปฏิกิริยาที่เขาสื่อสารมาอีกที ก็ต้องดูกันเป็นจังหวะ ๆไป

ต่อข้อถามที่ว่า การอำนวยความยุติธรรมที่ฝ่ายขบวนการเรียกร้องมีรูปแบบอย่างไร พล.ท.ภราดร กล่าวว่า มีความสัมพันธ์ทางคดีที่ผ่านมา เพราะต้องยอมรับว่ากระบวนการออกหมายจับบางคดีที่เขาถูกออกหมายจับไปก็ค่อน ข้างมีปัญหาเหมือนกัน และคดีที่ถูกออกหมายจับก็มีหลากหลาย บางคนถูกหมายจับตามกฎหมาย ป.วิอาญา บางคนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือ พ.ร.บ.มั่นคง จึงต้องมาตกผลึกและแยกแยะกัน ซึ่งต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามข้อเสนอให้เคลียร์หมายจับนั้น เขาพูดในภาพรวมของกลุ่มขบวนการทั้งหมด ไม่ได้ยื่นเงื่อนไขว่าต้องเคลียร์หมายจับให้แกนนำคนไหนก่อน ไม่มีการเอ่ยชื่อตัวบุคคล หรือกำหนดจำนวนคน เพราะทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะมีตัวเลขซึ่งกันและกันอยู่แล้ว เมื่อถามถึงกระแสข่าวในการพูดคุยมีการยื่นเงื่อนไขให้เคลียร์หมายจับถึง 3 หมื่นคน
พล.ท.ภราดร กล่าวอีกว่า ไม่ทราบว่าข่าวมาได้อย่างไร  เพราะประชุมจบก็มีข่าวนี้ออกมา แต่ไม่ได้เป็นการสื่อสารมาจากบนโต๊ะที่พูดคุย ซึ่งความจริงตัวเลขคนที่ถูกออกหมายจับ ทั้งตามกฎหมาย ป.วิอาญา และกฎหมายความมั่นคงมีเพียงหลักพันคน ไม่ถึงหมื่นคนตามที่เป็นข่าว ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหมายจับของนายมะแซ อุเซ็ง รวมอยู่ด้วย

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับการช่วยเหลือเรื่องคดีให้กับกลุ่ม ขบวนการเหล่านี้หรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบ และขอให้คณะพูดคุยไปประชุมหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งท่านจะติดตามอย่างใกล้ชิด เมื่อถามย้ำว่าแนวโน้มเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เคลียร์หมายจับได้ก่อนการ เจรจารอบใหม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ต้องไปดูในกระบวนการด้วยเหตุผล เพราะเป็นเรื่องของประชาชน ซึ่งหากไม่ได้ก็ต้องไปพูดคุยและสื่อสารให้เขารู้ว่าติดข้อจำกัดหรือเป็น ปัญหาเพราะอะไร เช่นเดียวกับข้อเสนอของเราที่ให้ลดพื้นที่ก่อความรุนแรง เขาก็ต้องมาบอกว่าจุดไหนทำได้ หรือติดขัดอะไร
ส่วนที่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรมหรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ตรงนี้ยังไม่ไปถึงการนิรโทษกรรม เป็นกระบวนการที่จะดูแลคนที่ถูกหมายจับเป็นหลัก เมื่อถามว่าแต่ในระหว่างการเจรจาก็ยังมีเหตุความรุนแรงในพื้นที่ เหมือนกับการไม่ยอมรับการเจรจาหรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นพวกหัวรุนแรงที่ยังไม่ยอมรับ ซึ่งมีประมาณ 20 % ที่ยังค่อนข้างแข็งแรง เพราะสิ่งที่ผู้แทนเขามาเจรจากับเรา เขาถือเป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่เสียงเอกฉันท์ จึงยังมีส่วนหนึ่งที่เห็นต่างอยู่ แต่เขาก็ยืนยันว่าจะกลับไปทำความเข้าใจให้

พล.ท.ภราดร กล่าวยอมรับด้วยว่า การพูดคุยเมื่อวันที่ 28 มี.ค. มีแกนนำกลุ่มขบวนการที่ไม่ยอมเปิดเผยตัวร่วมอยู่ด้วย โดยมีคนที่พูดคุยบนโต๊ะกับเราเพียง 6 คนเท่านั้น ส่วนที่ไปสนับสนุนไม่เปิดเผยตัว ซึ่งเราไม่ทราบว่ามีกี่คน พอเราพูดคุยกับแกนนำ 6 คนบนโต๊ะเสร็จแล้ว ระหว่างพักกินกาแฟเขาก็ใช้จังหวะนั้นไปสื่อสารให้กับแกนนำที่ไม่เปิดเผยตัว ได้ทราบ เมื่อถามว่าคนที่ไม่เปิดเผยตัวคือคนที่มีคดีหมายจับหรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ก็อาจจะใช่ และอาจจะเพื่อความปลอดภัยด้วย เมื่อถามย้ำว่าหากเราคุยกับคนที่มีหมายจับจะถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เราไม่ทราบ เพราะเราไม่เห็นตัว  แต่ยืนยันว่าในการเจรจาไม่มีการยื่นเงื่อนไขขอแบ่งแยกดินแดนหรือตั้งเป็นเขต ปกครองพิเศษ รวมทั้งไม่ได้หยิบยกเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้ทหารออกนอกพื้นที่ด้วย เป้าหมายตอนนี้เราตรงกันคือลดเหตุรุนแรงเพื่อให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ ส่วนวันที่ 29 เม.ย.จะเชิญ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีไปร่วมหารือด้วยหรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า คงยังไม่เชิญ แต่อาจจะแค่ปรึกษาหารือท่าน

“ต้องขอบคุณทางมาเลเซีย เพราะไมตรีจิตของมาเลเซียช่วยได้มาก การพูดคุยครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ บรรยากาศเป็นไปด้วยดี เพราะต่อให้ไม่ได้ประเด็นอะไร แต่แค่ความรู้สึกจริงใจต่อกันก็ถือว่าเริ่มสำเร็จแล้ว เพราะตอนนี้เป็นห้วงของการสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจ ประเด็นเป็นเรื่องรอง ถ้ามีความไว้ใจกันสูงแล้ว สุดท้ายจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ ผมรู้สึกเบาใจลงมาก หลังจากที่ได้มีการเจรจาในครั้งนี้ ประเด็นเขาพูดคุยส่วนใหญ่คือความไม่ได้รับความยุติธรรมตั้งแต่อดีต รวมถึงเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ซึ่งเราเข้าใจความรู้สึกเขาดีและได้นั่งรับฟัง สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีคือเขาได้พูดได้ระบายความในใจออกมา  และว่าจากการสังเกตท่าทีเราทราบดีว่าเขารู้ว่ากลุ่มที่ก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือใคร แต่เขาไม่ได้บอกเรา บางเหตุการณ์เขายืนยันว่าไม่ได้ประสงค์ต่อเป้าหมายที่อ่อนแอ แต่คือเจ้าหน้าที่ แต่การวางระเบิดไม่สามารถควบคุมได้ เราจึงย้ำไปว่าต้องยกเลิกการใช้ระเบิด เขาก็รับโจทย์นี้ไป” พล.ท.ภราดร กล่าว

พล.ท.ภราดร กล่าวอีกว่า เชื่อมั่นว่าจากนี้สถานการณ์ในพื้นที่จะดีขึ้น เป็นเชิงบวก เพราะคนที่มาพูดคุยสามารถไปสื่อสารได้  เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าจากนี้ไปการก่อเหตุรุนแรงใหญ่ๆจะไม่เกิดขึ้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ก็ยังคาดหวังไม่ได้ เพราะเราไม่ทราบว่าการสื่อสารของกลุ่มเขานั้นจะเป็นไปอย่างไร เพราะเป็นวิธีทางปิดลับ ไม่ได้ยกหูโทรศัพท์เหมือนเรา แต่การพูดคุยจะเป็นไปอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งตนจะรายงานเรื่องนี้ต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อน นโยบายยุทธศาสตร์และแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศปก.กปต.) ในวันที่ 2 เม.ย.นี้

0 comments:

Post a Comment

Friends